ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

        เมื่อคืนวันที่ 25 ต่อกับวันที่ 26 ตุลาคม 2505 ได้เกิดพายุโซนร้อนชื่อ "แฮเรียต" พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทยยังความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัดในคืนวันที่ 27 ตุลาคม 2505 เวลาประมาณ 19.00 น. นายปกรณ์ อังศุสิงห์ นายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ  ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ได้รับโทรศัพท์จาก คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์  อดีตเลขาธิการสำนักพระราชวัง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองมหาดเล็กว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัยและทรงติดต่อขอเครื่องบินจากกองทัพอากาศไว้แล้ว ขอให้รีบเดินทางไปช่วยเหลือโดยด่วน  ขณะนั้น กรมประชาสงเคราะห์ ได้เตรียมสิ่งของไว้พร้อมแล้ว จึงเดินทางไป     ในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 28 ตุลาคม 2505 นายปกรณ์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย อาทิ หลวงอรรถวิภาคไพศาลย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และ  หลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ อธิบดีกรมโยธาเทศบาล โดยมีนายประวิทย์  หาญณรงค์ หัวหน้าแผนกสาธารณภัย  กรมประชาสงเคราะห์ เป็นเลขานุการคณะ ได้เดินทางไปพร้อมกับแพทย์ พยาบาลและ       เจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถองค์สภานายิกาได้มีกระแสรับสั่งให้ร่วมเดินทางไปกับกรมประชาสงเคราะห์เพื่อทำการสงเคราะห์และบรรเทาทุกข์ในครั้งนี้ด้วย 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิตประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ และ สิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย  โดยทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง ความช่วยเหลือได้ หลั่งไหลเข้าสู่สถานีวิทยุ อส. ชั่วระยะเวลา 1 เดือน มีผู้บริจาคทรัพย์ถึง 11 ล้านบาท และสิ่งของประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ไม่สามารถบริจาคทรัพย์ และสิ่งของได้ก็บริจาคแรงงาน ที่น่าปลื้มใจก็คือ งานนี้ทำโดยอาสาสมัคร ซึ่งส่วนมากเป็นนิสิต นักศึกษา ลูกเสือและนักเรียน ได้ทำการจัดและขนส่งสิ่งของเหล่านั้นไปบรรเทาภัยแก่ประชาชน โดยมีนายเจริญ  มโนพัฒนะ รองอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ รักษาการแทน อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานเงินและสิ่งของไปดำเนินการตามพระราชประสงค์ตลอดเวลา 

นอกจากนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง  รวม 12 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดภาคใต้ และภายหลัง พระราชทานชื่อว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1,2,3,4,5 ถึง 12" ตามลำดับนับตั้งแต่   ก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่  23 สิงหาคม  2506 เป็นต้นมา 

ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 จังหวัดบุรีรัมย์ 

โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นางรอง จัดตั้งขึ้นตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2512 ตามโครงการที่ 208 ตั้งอยู่ที่ 125 หมู่ที่ 3 ตำบลนางรอง  อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ 

รับนักเรียนในเขตการศึกษา 11 คือ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และชัยภูมิ (ปัจจุบันรับนักเรียนจาก 3 จังหวัด คือ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ) สถานที่ตั้งโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นางรอง 

ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ราบสูงแวดล้อมไปด้วยป่าไม้เบญจพรรณและชลประทาน 

ซึ่งชาวบ้านเรียกพื้นที่นี้ว่า โคกลอย และอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอนางรองไปทางทิศเหนือประมาณ 4000 เมตร

ห่างจากจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 54 กิโลเมตร มีพื้นที่ ทั้งหมด 417 ไร่ 

           ทิศเหนือ ติดที่ถนนคันชลประทาน 

        ทิศตะใต้ ติดที่ดินชลประทาน 

        ทิศตะวันออก ติดอ่างเก็บน้ำชลประทาน 

                 ทิศตะวันตก ติดอ่างเก็บน้ำชลประทาน